การศึกษาและวิจัยการทำงานของคน ระยะเวลา 38 ปี ในประเทศฟินแลนด์ พบว่า อายุไม่ใช่เพียงตัวเลข แต่มีผลต่อ ความสามารถในการทำงานอย่างมาก และเมื่ออายุ 65 ปีไปแล้วจะมีสิ่งที่เหลืออยู่ 2 อย่างคือประสบการณ์และความรู้ ที่สำคัญคือ ขีดความสามารถและการสร้างความสัมพันธ์จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นองค์กรควรกลับมาสนใจแล้วว่าเราจะใช้ความสามารถ ด้านไหนของคนให้เหมาะสมตามช่วงอายุและต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพไปพร้อมกันด้วย จึงเป็นที่มาของการฉุกคิดประเด็นสุขภาพกับการทำงาน ในเวทีอภิปราย เรื่อง "ต้นแบบความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ช่วยสถานประกอบกิจการ ได้อย่างไร?"
ภายใต้งาน "10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยใน การทำงานแห่งชาติ" โดย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายดำรงค์ เปรมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยแรงงาน ดำเนินรายการและร่วมอภิปราย
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ บอกว่า สุขภาพกับการทำงานต้องไปด้วยกันเสมอ เพราะคนที่พร้อมย่อมทำงานได้ดีกว่าคนที่ไม่พร้อม สิ่งที่มีผลต่อสุขภาพมี 3 อย่าง ได้แก่ 1.สิ่งคุกคาม 2.ความเสี่ยง และ 3.อันตราย ซึ่งหัวใจสำคัญในการป้องกันคือ "การรักษาความปลอดภัย" โดยเกิดจากความรู้และประสบการณ์
จากการทำงานของคนทำงานนั่นเอง แต่นั่นเป็นเพียงการป้องกันในระดับตัวบุคคลเท่านั้น หากมองในแง่ของสถานประกอบกิจการในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่า ยังขาดความจริงจังและให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของพนักงานน้อยมาก แต่ยังมุ่งเน้นไปที่ผลผลิตและกำไรมากกว่า ตัวอย่างเช่น การลงทุนเครื่องจักรราคาถูกแต่ความปลอดภัยต่ำ การไม่ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ที่จะช่วย ลดความเสี่ยง และขาดการให้ความรู้ในการใช้งานที่ถูกต้องเพื่อป้องกันอันตรายจากเครื่องมือในการทำงาน
"หนึ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทำงานมากที่สุดโดยไม่รู้ตัวคือ "สภาพแวดล้อมในการทำงาน" ซึ่งนอกจากปัจจัยทางกายภาพ เคมี และชีวภาพแล้ว ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่บ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วยกให้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อผลผลิตของประเทศเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็คือ ปัจจัยด้านท่าทางในการทำงาน และปัจจัยด้านจิตวิทยาและสังคม กล่าวง่ายๆ คือ เครื่องมือเกือบทุกชนิดจะถูกออกแบบเพื่อเฉพาะ อาชีพนั้นๆ หรือแม้กระทั่งสีผนังของห้องนั้นยังมีผลต่อประสิทธิภาพ ในการทำงานได้ เพราะสีมีผลต่ออารมณ์และอารมณ์ก็จะส่งผล ต่อการทำงานได้เช่นกัน" นพ.ชาญวิทย์ บอกเพิ่มเติม ด้าน ดร.ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล กล่าวว่า มาตรการด้านความปลอดภัยในเรื่องสุขภาพ ของพนักงานหรือลูกจ้างตามที่ กฎหมายกำหนดนั้น คือ การตรวจสุขภาพ แต่กลับพบว่าตอนนี้เรื่องการตรวจสุขภาพเป็นไปในแง่ของธุรกิจ มีการจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพกับสถานประกอบ
กิจการในแบบเหมาจ่าย หลังจากตรวจสุขภาพแล้วจึงขาดการนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยง หรือหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพของลูกจ้าง ซึ่งเป็นเพียงการตรวจสุขภาพตาม ที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกจ้างแล้วยังเป็นการเสียค่าใช้จ่ายแบบไม่คุ้มเสีย อีกทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็ยังขาดความจริงจังในการดูแล ทำให้เกิดคำถามว่า โครงการตรวจสุขภาพที่กำหนดเป็นมาตรการนั้นเกิด ผลสำเร็จต่อลูกจ้างแล้วหรือยัง? "ครั้งนี้จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่าง สสส. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักความปลอดภัยแรงงาน ร่วมกันศึกษาประสบการณ์ และข้อเท็จจริงของความสำเร็จจากประเทศอื่นๆ ที่มีกระบวนการการจัดการเรื่องนี้อย่างดี แล้วนำข้อมูลมาสร้างต้นแบบในการพัฒนาและแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป ที่สำคัญคือในกระบวนสร้างต้นแบบนี้จะต้องให้คนจากสถานประกอบกิจการทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทด้วยเพราะคนในพื้นที่ย่อมรู้ดีกว่าแน่นอน จึงจะถือได้ว่าเป็นการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง" ดร.ชัยยุทธ บอก
ซึ่งเรื่องนี้ นพ.ชาญวิทย์ เสริมว่า ผลสำเร็จที่จะตามมาในอนาคตก็คือ เจ้าของสถานประกอบกิจการจะรู้ว่าลูกจ้างกำลังเสี่ยงกับอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขลดความเสี่ยงนั้น ซึ่งนั่นเท่ากับว่าคุณได้รักษาผลประโยชน์ของกิจการของคุณไว้ ไม่เพียงเท่านั้นคุณยังรักษารายได้ของประเทศอีกด้วย เพราะหนึ่งคนก็สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้
ดังนั้น การลงทุนด้านความปลอดภัยไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน แต่เป็นการทำให้พนักงานทุกคนรวมถึงเจ้าของสถานประกอบ กิจการมีความปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งคุ้มค่ากว่าการสูญเสียที่จะตามมา อีกมากมาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด